วันพุธ

รับประทานอะไรถึงไม่แก่

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ  ก็เป็นหน้าที่แม่หมออย่างเดิมนะคะที่จะสรรหาเรื่องราวน่าสนใจและมีประโยชน์มาฝากเพื่อนๆกันอะค่ะ .... และแล้ววันนี้แม่หมอก็มีเรื่องของอาหารที่ตานความแก่มาฝากค่ะ  ต้องขอออกตัวก่อนว่าวันนี้จะแนววิชาการหน่อยนะคะ เพราะเป็นบทความแปลมาจากภาษาอังกฤษ ชื่อบทความ Anti-aging, skin-friendly nutrients ซึ่งเขียนโดยDr. David J Goldberg อาจารย์แพทย์ด้านผิวหนังที่ Mt. Sinai School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านได้แบ่งกลุ่มของสารอาหารที่ต้านความแก่ไว้ดังนี้ค่ะ
*กลุ่มวิตามินเอ*

วิตามินเอ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ เรตินอยด์ (retinoids) และแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ..... ตัวเรตินอยด์นั้นมีอยู่ในอาหารและร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ ส่วนแคโรทีนอยด์ นั้นร่างกายจะต้องเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของวิตามินเอเสียก่อน แคโรทีนอยด์ที่เรารู้จักกันดีคือ เบตาแคโรทีน (beta-carotene)

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยในเรื่องการป้องกันการเสื่อมอายุ ของผิวหนัง การซ่อมแซมผิวหนังที่เสียไป นอกจากนี้วิตามินเอยังมีความสำคัญต่อขบวน การเติบโตของผิวหนัง ( differentiation) และเป็นสารสำคัญที่ช่วยทำให้ผิวหนังมีการทำงานอย่างปกติ

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : เนื่องจากวิตามินเอเป็นสารต้านอนุมุลอิสระก็จะช่วยในเรื่องของการป้องกันมะเร็งและทำให้มีสุขภาพตาที่ดีด้วย

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : ประมาณ 5,000 international units (IU) หรือเบตาแคโรทีน ประมาณ 3 มิลลิกรัม การได้รับวิตามินเอปริมาณมากไปอาจจะทำลายตับและเกิดเป็นพิษได้

• แหล่งอาหาร : วิตามินเอ : ไข่ นม เนย ปลาแซลมอน ปลา halibut  .... แคโรทีนอยด์ : ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี ผักโขม แอสพารากัส มะละกอ แคนตาลูป มะเขือเทศฟักทอง

*กลุ่มวิตามินบี-คอมเพล็กซ์ *

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : วิตามินในกลุ่มนี้มีความสำคัญต่อสุขภาพผิวหนังเป็นอย่างมาก เป็นตัวช่วยในขบวนการผลิตพลังงานภายในเซลล์ วิตามินบี 2 จะช่วยในเรื่องการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ วิตามินบี 3 ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและทำให้ผิวหนังไม่ซีด วิตามินบี 12 ช่วยในการแบ่งเซลล์ วิตามินบี 9 (หรือกรดโฟลิค) ช่วยในเรื่องการแบ่งและเจริญเติบโตของเซลล์ นอกจากนี้กรดโฟลิคยังช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงด้วย

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : กลุ่มวิตามินบีมีความสำคัญมากในขบวนการสร้างพลังงานของเซลล์ และช่วยทำให้เอนไซม์ต่างๆ ทำงานตามปกติ วิตามินบีช่วยในการเปลี่ยนแปลงน้ำตาลกลูโคส ใช้เป็นพลังงาน การขาดวิตามินตัวนี้จะมีผลต่อระดับความรู้สึก หัวใจ การหายใจ วิตามินบี 6 ช่วยลดการอักเสบ ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว การสร้างอินซูลิน สร้างภูมิต้านทานโรค และช่วยเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ส่วนวิตามินบี 12 ช่วยเกี่ยวกับเรื่องของระบบสมองและประสาท

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : บี 1 = 1.1-1.2 มิลลิกรัม  บี 2 = 1.1-1.3 มิลลิกรัม  บี 3 = 14-16 มิลลิกรัม บี 6 = 2 มิลลิกรัม บี 9 ( กรดโฟลิค) = 180-200 ไมโครกรัม (400 ไมโครกรัม สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์) บี 12 = 2 ไมโครกรัม ..... ในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี การดูดซึมวิตามินบีหลายตัวจะลดลงโดยเฉพาะวิตามินบี 6 และบี 12

• แหล่งอาหาร : ผัก : บร็อคโคลี มันฝรั่ง เห็ด แครอท มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ผักโขม   ผลไม้ : กล้วย แอปเปิล มะเขือ ผลไม้ในกลุ่มส้ม   สัตว์ : ไข่ ไก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า   อื่นๆ : ข้าว เมล็ดธัญพืช ถั่ว ถั่วลิสง ถั่ววอลนัท ถั่วอัลมอนด์

*กลุ่มวิตามินซี*

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : วิตามินซีเป็นตัวสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมทั้งผิวหนังของเรา นอกจากนี้ยังเป็นตัวสำคัญในการสร้างคอลลาเจนด้วย

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมากตัวหนึ่ง และยังสามารถลดไขมันที่ไม่ดีในเลือด (LDL) และเพิ่มไขมันที่ดี (HDL) ด้วย ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย และโรคเกี่ยวกับระบบตาด้วย

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : ประมาณวันละ 60 มิลลิกรัม แต่ส่วนมากนักวิทยาศาสตร์ทางด้านอาหารจะแนะนำประมาณ 500-1000 มิลลิกรัม ต่อวันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ Anti-aging ด้วย

• แหล่งอาหาร : ผัก : ผักใบเขียว บร็อคโคลี กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง (แอสพารากัส)
ผลไม้ : ผลไม้แทบทุกชนิดมีวิตามินซี โดยเฉพาะในกลุ่มของส้ม มะละกอ ฝรั่ง แตงโม แตงเทศ

*กลุ่มวิตามินอี*

วิตามินอี มีอยู่ 2 กลุ่มคือ โทโคฟีรอล (tocopherol) และโทโคไตรอีนอล (tocotrienols) ซึ่งตัวหลังนี้เป็นตัวใหม่ซึ่งเพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่นานนี้และเชื่อกันว่าสามารถช่วยเรื่องการชะลอความแก่ชราได้ด้วย

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ลดการอักเสบ และช่วยซ่อมแซมผิวหนัง

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : วิตามินอี เป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เพราะมีส่วนช่วยลดไขมัน ป้องกันการเกิดการแข็งตัวของเลือด ป้องกันโรคมะเร็งและหัวใจ

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : ประมาณ 40 IU แต่นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มักแนะนำประมาณ 200-400 IU ซึ่งปริมาณขนาดนี้ไม่สามารถรับประทานได้จากอาหารทั่วไปจำเป็นต้องใช้ในรูปอาหารเสริม

• แหล่งอาหาร :  ผัก : ผักใบเขียว บรอคโคลี มันฝรั่ง   ผลไม้ : มะม่วง   อื่นๆ : จมูกข้าวสาลี เมล็ดธัญพืช ถั่วอัลมอนด์ ถั่วเหลีอง น้ำมันพืช ปลาแซลมอนน้ำมันปลา

*กลุ่มแร่ธาตุพวกทองแดง สังกะสี และซีลีเนียม*


• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : แร่ธาตุเหล่านี้จะทำงานกับวิตามินที่ต้านอนุมูลอิสระเพื่อที่จะทำให้ การกำจัดอนุมูลอิสระทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ทองแดงยังช่วยในการสร้างคอลลาเจน สังกะสีช่วยในการซ่อมแซมคอลลาเจนที่สึกหรอ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยรักษาสิวด้วย

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : การที่แร่ธาตุเหล่านี้ทำให้วิตามินที่ต้านอนุมูลอิสระทำงานดีขึ้นก็จะช่วยในการ ชะลอความแก่ชราและป้องกันโรคเรื้อรังบางชนิดด้วย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบ ที่สำคัญของเอนไซม์และฮอร์โมนหลายชนิด

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : ทองแดง = 2 มิลลิกรัม , สังกะสี = 15 มิลลิกรัม , ซีลีเนียม = 70 ไมโครกรัม , ถ้าร่างกายได้รับแร่ธาตุเหล่านี้ในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดพิษได้

• แหล่งอาหาร :  ผัก : บร็อคโคลี เห็ด   สัตว์ : เนื้อไก่ ปลา ไข่  อื่นๆ : โยเกิร์ต นม จมูกข้าวสาลี เมล็ดธัญพืช เต้าหู้ ถั่ว

*กลุ่มQ 10*

Q 10 นี้ถือว่าเป็น co-enzyme ที่สำคัญตัวหนึ่งในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำหรับขบวนการเสื่อม ของเซลล์ในร่างกายของคนเรา การที่มีระดับ Q10 ต่ำจะพบร่วมกับโรคที่เกี่ยวกับความชรา โดยปกติแล้วร่างกายเราสามารถสร้าง Q10 ได้เอง แต่เมื่ออายุมากขึ้นหรือเวลามีความเครียด ร่างกายก็จะสร้าง Q10 ได้น้อยลง

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสี UV

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : ช่วยสร้างอนุมูลอิสระที่เกิดภายในร่างกาย และเสริมสร้างขบวนการสร้างพลังงานระดับเซลล์ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันหัวใจและป้องกันการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง

• ความต้องการของร่างกายต่อวัน : โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารจะแนะนำให้รับประทาน 30-60 มิลลิกรัมต่อวัน

• แหล่งอาหาร : ถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง ปลาแซลมอน ไข่ เนื้อวัว ตับไต หัวใจ จมูกข้าวสาลี

*กลุ่มกรดอัลฟาไลโปอิก*

สารตัวนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้

• ประโยชน์ต่อผิวหนัง : นอกจากจะช่วยในแง่ของการต้านอนุมูลอิสระแล้ว สารนี้ยังช่วยในการสร้าง และซ่อมแซมคอลลาเจนของผิวหนังด้วย

• ประโยชน์ต่อร่างกายอื่นๆ : ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ ทำให้การทำงานของวิตามินซี และอี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจมีส่วนเกี่ยวกับเรื่องของระบบประสาท

ความต้องการของร่างกายต่อวัน : ประมาณ 50-100 มิลลิกรัม ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือมีปัญหาเรื่องระบบเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทานสารตัวนี้

เป็นงัยบ้างคะเพื่อนๆ อันที่จริงอาหารที่ช่วยต้านความแก่ก็เป็นอาหารที่มีอยู่ทั่วไปนี่แหละค่ะ  เราอาจมองข้ามไปบ้างหรือไม่ชอบบ้าง  ... แต่ถ้านึกถึงประโยชน์ของมัน และที่สำคัญท่องไว้ค่ะ ถ้าไม่อยากแก่ต้องรู้จักเลือกอาหาร...... แม่หมอก็หวังว่า ชมรมหนุ่มสาวสองพันปีคงได้ต้อนรับสมาชิคใหม่ที่มาอ่าน สวยใสๆสไตล์แม่หมอกันในวันนี้นะคะ


ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพื่อน ๆ แม่หมอสาว